แต่ไหนแต่ไรมา เราเคยได้ยินแต่ว่า โรคท้องร่วงจะระบาดในช่วงฤดูร้อน เพราะเชื่อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อน แถมอากาศร้อนจัดยังทำให้อาหารบูดเสียวได้ง่ายอีกด้วย
หารู้ไม่ว่า ในช่วงที่ลมหนาวพัดผ่านเช่นตอนนี้ ก็มิได้นิ่งนอนใจได้เลยว่า เจ้าเชื่อโรคไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา โปรโตซัว หรือพยาธิ ตัวการก่อโรคท้องร่วง จะสงบเสงี่ยม ไม่ออกอาละวาด
เพราะจากรายงานข่าวของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขล่าสุด ที่ได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระวัง 6 โรคอันตรายในช่วงฤดูหนาว สืบเนื่องจากสถิติเมื่อปีที่แล้ว (ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึง มีนาคม 2554) พบว่ามีผู้ป่วยโรคที่เฝ้าระวัง 6 โรคทั้งหมด 89,730 ราย โดยมีโรคท้องร่วงรั้งอันดับแชมป์ ด้วยจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคนี้มากที่สุดถึง 70,785 ราย และส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
ดังนั้น เพื่อกันไว้ดีกว่าแก้ เรามีวิธีสังเกตอาการท้องร่วง เพื่อไปพบแพทย์ได้ทันกาล พร้อมความรู้ดีๆ เรื่องการรักษาโรคท้องร่วงที่คุณอาจไม่รู้มาก่อนค่ะ
ก่อนอื่น ขอไขข้อข้องใจก่อนว่าทำไมโรคท้องร่วงถึงระบาดในช่วงฤดูหนาวได้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิโรจน์ ไววานิชกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรกรรมเขตร้อน ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง 365 วัน ภูมิคุ้มกันสามฤดู ว่า
“ปัญหาสำคัญในฤดูหนาวที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้แก่ เชื่อโรคเมืองร้อนหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว เช่น เชื้อไวรัส หนึ่งในตัวการก่อโรคท้องร่วง ประกอบกับเมื่ออากาศเย็นจัด ทำให้ระบบการทำงานต่างๆในร่างกายทำงานไม่เต็มที่ รวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันด้วย”
นอกจากนั้น คุณหมอวิโรจน์ ยังให้ความรู้เพิ่มเติมว่า “ปกติโรคท้องร่วงสามารถหายได้เอง เพราะกระบวนการถ่ายอุจจาระคือการขับเอาเชื้อโรคออกจากทางเดินอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อเกิดอาการท้องร่วงจึงไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะใดๆเพื่อบรรเทาอาการ ขณะที่การใช้ยาหยุดถ่ายที่มีส่วนทำให้เชื้อโรคไม่ได้ถูกระบายออก ยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้”
“แต่ถึงอย่างไร โรคท้องร่วงก็มีความรุนแรงหลายระดับ ผู้ป่วยและผู้ดูแลจึงต้องหมั่นสังเกตอาการ หากอาการท้องร่วงเกิดขึ้นร่วมกับการต่อไปนี้ ต้องรีบพบแพทย์”
- อุจจาระมีหนอง มีมูกเลือดปน และมีไข้สูง
- อาการท้องร่วงไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง
- มีอาการขาดน้ำ ได้แก่ อ่อนเพลีย หน้ามืดเหมือนจะเป็นลม กระหายน้ำบ่อย และปัสสาวะลดลง
อ้างอิง ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิโรจน์ ไววานิชกิจ. 365 วัน ภูมิคุ้มกันสามฤดู. กรุงเทพฯ: Think Good, 2554
เมื่อมีอาการท้องร่วง ผู้ป่วยควรดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่หรือเครื่องดื่มเกลือแร่แทนน้ำจนกว่าอาการท้องร่วงจะบรรเทา เพื่อป้องกันไม่ให้ร่ายกายเกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ จากอาการท้องร่วง
โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นไม่เลือกเวลา มาฟิตร่างกาย และดูแลตนเอง คราวนี้ต่อให้อากาศจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ไม่หวั่นแล้วล่ะค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือชีวจิต ปีที่ 13 ฉบับที่ 318